GN-z11 ดาราจักรที่ไกลที่สุด (มี.ค. 2559)
ล้มสถิติเก่าของปีที่แล้วคืือ ดาราจักร EGS-zs8-1 (พ.ค. 2558) ค่าเรดชิฟต์ z = 7.73 และ ดาราจักร EGSY8p7 (ส.ค. 2558) ค่าเรดชิฟต์ z = 8.68 ตอนนี้ดาราจักรที่ไกลที่สุดเท่าที่ค้นพบคือ GN-z11 ค่าเรดชิฟต์ z = 11.09
ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลอย่างสุดกำลัง ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ได้ทำลายสถิติด้วยการค้นพบดาราจักรที่ไกลที่สุด เป็นดาราจักรทารกที่มีความสว่างสูง ซึ่งเป็นภาพเมื่อ 13.4 พันล้านปีที่แล้ว หรือ 400 ล้านปีหลังจากบิกแบง GN-z11 อยู่ในบริเวณกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)

“เราได้มองย้อนกลับไปในอดีตไกลมากๆ เกินความคาดหมายของความสามารถของกล้องฮับเบิล เรามองไปที่ GN-z11 เมื่อจักรวาลยังมีอายุแค่ 3% ของปัจจุบัน” กล่าวโดย Pascal Oesch จากมหาวิทยาลัยเยล ทีมที่ค้นพบครั้งนี้ประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University), สถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute :STScI) , และมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย (University of California)
เหล่านักดาราศาสตร์ได้เข้าใกล้กลุ่มดาราจักรแรกๆที่ก่อตัวขึ้นในจักรวาล การค้นพบของกล้องฮับเบิลครั้งได้เข้ามาสู่ขอบเขตของความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ที่จะถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในอนาคต
การวัดครั้งนี้เผยให้เห็นดาราจักรที่สว่างอย่างเหลือเชื่อ ครั้งนี้ทีมได้ใช้กล้อง Hubble’s Wide Field Camera 3 เพื่อใช้ในการวัดระยะทาง GN-z11 อย่างแม่นยำ ด้วยการแยกสเปคตรัมของแสง
นักดาราศาสตร์วัดระยะที่ไกลมากๆด้วยการหาค่าเรดชิฟต์ของดาราจักร (ถ้าระยะทางใกล้ๆจะใช้วิธีพารัลแลกซ์) ปรากฏการณ์นี้เป็นผลของการขยายตัวของจักรวาล วัตถุในอวกาศถอยห่างจากเราไปเรื่อยๆ แสงที่เดินทางผ่านการขยายตัวของอวกาศจะถูกยืดให้ยาวขึ้น ความยาวคลื่นเปลี่ยนมากทางสีแดงมากขึ้น ยิ่งค่าเรดชิฟต์สูง วัตถุนั้นยิ่งไกล
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ได้พบวัตถุที่มีค่าเรดชิฟต์ 8.68 หรือ 13.2 พันล้านปีในอดีต ตอนนี้ทีมได้ยืนยันว่า GN-z11 มีค่าเรดชิฟต์ 11.1 ใกล้บิกแบงกว่าเดิม 200 ล้านปี “ความสำเร็จครั้งนี้ของกล้องฮับเบิล ได้ทำลายสถิติของกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก สถิติใหม่นี้อาจจะคงอยู่จนกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์จะถูกปล่อยในอนคต” กล่าวโดย Pieter van Dokkum จากมหาวิทยาลัยเยล

ด้วยการร่วมกันของภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer) ทำให้ทราบว่า GN-z11 มีขนาดเล็กกว่าดาราจักรทางช้างเผือกของเรา 25 เท่าและมีมวลเพียง 1% ของดาราจักรทางช้างเผือก แต่มันมีอัตราการก่อตัวของดาวฤกษ์สูงกว่าดาราจักรของเรา 20 เท่า ทำให้มีความสว่างมากพอให้นักดาศาสตร์พบเจอและตรวจวัดได้
ผลการค้นพบครั้งนี้เผยให้เห็นลักษณะของจักรวาลในช่วงแรกเริ่ม “มันน่ามหัศจรรย์ที่ดาราจักรก่อตัวหลังจากการเกิดขึ้นของดาวฤกษ์ดาวแรกๆ 200-300 ล้านปี มันเติบโตอย่างรวดเร็วและก่อสร้างดาวฤกษ์ด้วยอัตราที่สูง” กล่าวโดย Garth Illingworth จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย
การค้นพบครั้งนี้เป็นการยั่วเย้าถึงการสังเกตที่จะได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ที่จะถูกปล่อยในปี พ.ศ. 2561 แต่กล้องฮับเบิลและกล้องสปิตเซอร์ได้เข้ามาสู่ขอบเขตนี้แล้ว “ในอนาคต การค้นพบของกล้องเจมส์เวบบ์จะได้พบกับดาราจักรรุ่นเยาว์วัยจนไปถึงดาราจักรแรกๆที่ก่อตัวขึ้น” Garth Illingworth กล่าวเพิ่ม
การค้นพบครั้งนี้ก็ยังมีผลต่อแผนของนาซ่าที่จะปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสำรวจอินฟราเรดพื้นที่กว้าง Wide-Field Infrared Survey Telescope (WFIRST) ในอนาคต ซึ่งมีความสามารถที่จะค้นพบดาราจักรที่สว่างและอยู่ห่างไกลได้หลายพันแห่ง
การค้นพบครั้งนี้เผยแพร่ในวารสาร The Astrophysical Journal
ที่มา : Hubblesite
ซูมเข้าไปดู
มกราคม 24, 2017 เวลา 23:18
Thank You Ka.