การรวมตัวของหลุมดำปล่อยรังสีแกมมาหรือไม่
หลังจากการตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงของ LIGO ที่ปลดปล่อยออกมาจากการรวมตัวของหลุมดำ ก็มีความพยายามหาปรากฎการณ์เชิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในท้องฟ้าและเวลาที่ LIGO ตรวจจับได้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Fermi ได้ตรวจพบการระเบิดของรังสีแกมมาในทิศทางและเวลาใกล้เคียงกัน คำถามที่ตามมาคือทั้งสองเหตุการณ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ โดยทั่วไปการรวมตัวของหลุมดำสองหลุมไม่น่าจะเกิดการระเบิดของรังสีแกมมาออกมาได้ จึงมีการเสนอแนวคิดความเป็นไปได้ที่การรวมตัวของหลุมดำจะปล่อยรังสีแกมมาออกมา
ภาพซิมมูเลเตอร์การรวมตัวของหลุมดำ
Abraham Loeb จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เสนอแบบจำลองที่ว่าดาวฤกษ์มวลมากอย่างยิ่งได้เมื่อสิ้นอายุไขได้ยุบตัวแล้วทำให้เกิดหลุมดำ 2 หลุม โดยทั่วไปการยุบตัวของดาวฤกษ์มวลมากจะยุบตัวเป็นหลุมดำหลุมเดียว แต่ Abraham Loeb เสนอว่า หากดาวฤกษ์มวลมากนั้นหมุนรวบตัวเองเร็วมากๆ ด้วยแรงหนีศูนย์กลางจะทำให้มันแยกออกเป็น 2 ส่วนคล้ายรูปดัมเบลและแยกออกจากการกันเป็นหลุมดำสองหลุม จากนั้นหมุนรอบกันและรวมตัวกันอย่างที่ LIGO ค้นพบ ในช่วงเวลานี้เศษซากของดาวฤกษ์อาจปล่อยการระเบิดของรังสีแกมมาออกมา การตรวจับคลื่นความโน้มและ redshift การระเบิดของรังสีแกมมาจะทำให้เกิดวิธีใหม่ในการวัดระยะทางในเอกภพที่แม่นยำได้
Bing Zhang จากมหาวิทยาลัยเนวาดา เสนอแบบจำลองที่ว่าหากหลุมดำสองหลุมมีประจุจำนวนเล็กน้อย การหมุนรอบกันเองของมันสร้างสนามแม่เหล็กที่ขั้ว ประพฤติตัวเหมือนพัลซาร์ยักษ์ เมื่อมันรวมตัวกันทำให้เกิดรังสีแกมมาช่วงเวลาสั้นๆได้
อย่างไรก็ตามการตรวจพบการะเบิดรังสีแกมมาของ Fermi ก็ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากมี False alarm rate สูง ขณะที่ข้อมูลจากยาน INTEGRAL ขององค์การอวกาศยุโรปยังไม่พบรังสีแกมมาในทิศทางและเวลาที่ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้ หรือสองเหตุการณ์นี้อาจไม่เกี่ยวของกัน แต่ Abraham Loeb กล่าวว่า”เราอย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าการรวมตัวของหลุมดำนั้นเงียบสงบ ไม่ปล่อยร่องรอยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเสมอไป”
แหล่งข้อมูล
http://arxiv.org/pdf/1602.04735v1.pdf
http://arxiv.org/pdf/1602.04542v2.pdf
http://arxiv.org/pdf/1602.04180v1.pdf