ปล่อย ExoMars ตามหาร่องรอยชีวิตบนดาวอังคาร
โครงการ ExoMars เป็นภารกิจค้นหาร่องรอยชีวิตบนดาวอังคารขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ด้วยความร่วมมือกับองค์การอวกาศรัซเซีย (Roscosmos) โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
วัตถุประสงค์ด้านวิทยาศาสตร์
- ค้นหาร่องรอยชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบัน
- ศึกษาน้ำและองค์ประกอบเคมีของพื้นผิวดาว
- ศึกษาบรรยากาศและระบุอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับภารกิจส่งมนุษย์ไปดาวอังคารในอนาคต
วัตถุประสงค์ด้านเทคโนโลยี
- เทคโนโลยีการลงจอด
- การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนพื้นผิวของดาว (2018)
- เครื่องมือขุดเจาะพื้นผิว (2018)
- ยานโรเวอร์ (2018)

โดยภาระกิจถูกแบ่งเป็น 2 ครั้ง ดังนี้
ExoMars 2016
ครั้งแรกจะส่งยานโคจร ExoMars Trace Gas Orbiter (TGO) และยานลงจอด Schiaparelli บนจรวดโปรตอน (Proton-M/Breeze-M) ของรัซเซีย ในวันที่ 14 มีนาคม 2559 จากฐานปล่อย Baikonour cosmodrome ของรัซเซียในประเทศคาซัคสถาน (ชมถ่ายทอดสดตั้งแต่เวลา 15:30 น. ปล่อยยาน 16:31 น. คลิ๊กที่นี่)
- ยานโคจร ExoMars Trace Gas Orbiter (TGO)

TGO จะทำแผนที่ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซอื่นๆบนดาวอังคารและทำหน้าที่ส่งต่อสัญญานจากยานลงจอด Schiaparelli โดยทั่วไปก๊าซมีเทนจะถูกทำลายโดยรังสีจากดวงอาทิตย์ภายในไม่กี่ร้อยปีหลังจากการเกิด การพบก๊าซมีเทนถึงบ่งชี้ว่ามีกระบวนการของสิ่งมีชีวิตอยู่ บนโลกก๊าซมีเทน 90% เกิดจากสิ่งมีชีวิต ถ้าพบมีเทนที่อยู่รวมก๊าซไฮโดรคาร์บอนเช่น โพรเพนหรืออีเธน นั่นอาจบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็็ก แต่ถ้ามีเทนมีอยู่ร่วมกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นไปได้ว่ามีเทนนั้นเกิดจากกิจกรรมทางธรณีวิทยาเช่นภูเขาไฟ โดยยานจะใช้เวลา 7 เดือนในการไปถึงดาวอังคาร จากนั้นจะปล่อยยานลงจอด Schiaparelli ลงสู่ดาว จากนั้น TGO จะลดความเร็วเพื่อเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร และจะเก็บข้อมูลและส่งต่อสัญญานตามภารกิจ ยานจะคงอยู่จนถึงภารกิจลงจอดยานโรเวอร์ในปี 2018-2019 และจะสิ้นสุดภารกิจในปี 2022
- ยานลงจอด Schiaparelli EDM lander

Schiaparelli (สเกียพาเร็ลลิ) จะเป็นยานทดสอบเทคโนโลยีการลงจอดบนดาวอังคารของยุโรปและรัซเซีย และเป็นความรู้ให้การลงจอดของยานโรเวอร์ในอนาคต ยานจะลงจอดบนดาวอังคารวันที่ 19-23 ตุลาคม 2559 บริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า Meridiani Planum ซึ่งเป็นที่ที่ค่อนข้างราบเรียบ(เมื่อเทียบกับจุดอื่น) ช่วงลงจอดช่วงฤดูที่มีพายุฝุ่น ยานจะช่วยเก็บข้อมูลของฝุ่นในชั้นบรรยากาศในช่วงการลงจอดนี้ ตัวยานจะมีเกราะกันความร้อน ร่มชูชีพและจรวดลดความเร็วสำหรับใช้ในการลงจอด เมื่อลงจอดยานใช้อุปกรณ์ DREAMS (Dust characterisation, Risk assessment, and Environment Analyser on the Martian Surface) ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์หลายชิ้นเพื่อเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ข้อมูลฝุ่นที่พื้นผิวดาว วัดสนามไฟฟ้าเพื่อศึกษากลไกไฟฟ้าจากฝุ่น วัดความชื้น วัดทิศทางและความเร็วลม ความดันและอุณหภูมิ วัดความโปร่งใสของชั้นบรรยากาศ กล้องถ่ายภาพ ยานใช้แบตเตอรี่แบบไม่สามารถชาร์จได้ ซึ่งจะเพียงพอที่จะใช้ได้ 4 วันดาวอังคาร ชื่อของยานตั้งตามชื่อนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี Giovanni Schiaparelli และวันนี้ยังเป็นวันคล้ายเกิดของเขา
คลิปจำลองภารกิจ
คลิปปล่อยจริง
มาตรการป้องกันการปนเปื้อนแก่ดาวเคราะห์อื่น
การสำรวจดาวอื่นนั้นต้องมีความรับผิดชอบและมีภาระผูกพันตามกฎหมาย คณะกรรมการการวิจัยอวกาศ Committee on Space Research (COSPAR) ได้ออกนโยบายป้องกันการปนเปื้อนแก่ดาวเคราะห์อื่น ซึ่งสอดคล้องกับสนธิสัญญาอวกาศขององค์การสหประชาชาติ United Nations Outer Space Treaty

ยานลงจอด Schiaparelli จะถูกสร้างในห้องสะอาดที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ยานจะถูกฆ่าเชื้อด้วยวิธีต่างๆ เช่น การฉายรังสีไอออน การฉายรังสียูวี ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ เอทิลแอลกอฮอล์ ตรวจหาจุลชีพเกือบ 3,000 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กติดไปด้วย (ไม่มีแมลงสาบด้วยแน่นอน)
ExoMars 2018

การปล่อยครั้งที่ 2 จะมีขึ้นในเดือนพฤภาคม พ.ศ. 2561 ครั้งนี้จะส่งยานโรเวอร์ที่สามารถเคลื่อนที่สำรวจบนพื้นผิวดาวอังคารได้ ยานจะถูกส่งโดยจรวดโปรตอนของรัซเซีย ตัวยานจะมีระบบลงจอดที่ถูกปรับปรุงจากข้อมูลที่ได้รับจากการลงจอดครั้งแรก ยานจะเดินทางถึงดาวอังคารในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ยานโรเวอร์สำรวจจะมีอุปกรณ์ถ่ายภาพ เครื่องตรวจวัดหมุนของดาว เครื่องขุดเจาะ อุปกรณ์วัดความชื้น ฝุ่น อุณหภูมิ รังสียูวี สนามแม่เหล็กในชั้นบรรยากาศ ครั้งนี้ยานอาจจะใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ Radioisotope thermoelectric generator (RTG) เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่มีอายุยาวนาน และแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
แหล่งข้อมูล
https://www.theguardian.com/science/2016/mar/13/exomars-giant-nose-life-on-mars-prepares-launch
http://exploration.esa.int/mars/46475-trace-gas-orbiter/
http://exploration.esa.int/mars/47852-entry-descent-and-landing-demonstrator-module/
https://www.sciencedaily.com/releases/2011/06/110610131834.htm
http://www.esa.int/Our_Activities/Space_Science/ExoMars/Planetary_protection
http://exploration.esa.int/mars/45084-exomars-rover/
https://en.wikipedia.org/wiki/ExoMars
คลิปจำลอง ExoMars 2016 ด้วยเกม Kerbal Space Program
ติดตามเพจ https://www.facebook.com/punpunsara/